บริการให้คำปรึกษาและปรับปรุง ระบบบำบัดน้ำ ทั้งน้ำดี และน้ำเสีย, ช่วยองค์กรท่านลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ โดยลดการใช้ทรัพยากรน้ำ และไฟฟ้า PM2.5 /PM10 ทำไมจึงอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ และสัตว์ - welkinchemi

PM2.5 /PM10 ทำไมจึงอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ และสัตว์

55 จำนวนผู้เข้าชม  | 

PM 10 และ PM 2.5 คืออะไร

ฝุ่นละอองในอากาศ (PM: Particulate Matter ) ไม่ใช่มลพิษเชิงเดี่ยว แต่เป็นส่วนผสมของสารประกอบเคมีหลายชนิด, เป็นส่วนผสมที่ซับซ้อนของอนุภาคของแข็งและ ละอองลอยที่ประกอบด้วยอนุภาคหยดของเหลวขนาดเล็ก

ฝุ่นละออง หมายถึง อนุภาคของแข็งหรือหยดละอองของเหลวที่แขวนลอยในบรรยากาศ ซึ่งมีขนาดแตกต่างกันตั้งแต่ 100 ไมครอนลงมา เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ และเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ บางชนิดมีขนาดใหญ่จนมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น ฝุ่นจากโรงโม่หิน ฝุ่นจากโรงไม้ แต่บางชนิดมีขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็น ซึ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กมีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพของประชาชน

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก แบ่งย่อยออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) PM2.5 ประกอบด้วยคำว่า PM ที่ย่อมาจาก Particulate Matters เป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งมี 2 ชนิด ได้แก่ PM10 และ PM2.5 ส่วนตัวเลข 2.5 นั้น มาจาก ขนาดของฝุ่น มีหน่วยเป็นไมครอน


ดังนั้น PM2.5 ก็คือ ฝุ่นละอองขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน มีขนาดเล็กประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผม ขนจมูกไม่สามารถกรองได้ ลอยในอากาศได้นานและไกลถึง 1,000 กิโลเมตร และอาจมีสารพิษที่เกาะมาด้วย หากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ล่องลอยอยู่ในอากาศปริมาณมาก จะเห็นท้องฟ้าเป็นสีหม่น หรือเกิดเป็นหมอกควัน



ภาพเปรียบเทียบขนาด PM2.5,เม็ดเลือดแดง,PM10

สาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5  

- การคมนาคมขนส่ง ควันจากท่อไอเสีย และการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ 
- การผลิตไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ การเผาปิโตรเลียมและถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดก๊าซพิษจากการเผาไหม้ 
- การเผาเพื่อทำการเกษตร  การก่อสร้าง 
- การรวมตัวของก๊าซอื่น ๆ ในบรรยากาศโดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และออกไซด์ของ ไนโตรเจน (NOx) รวมทั้งสารพิษอื่น ๆ ที่ล้วนเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ เช่น สารปรอท (Hg), แคดเมียม (Cd), อาร์เซนิก (As) หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) 
 

CARB(California Air Resource Board)  มีความกังวลเกี่ยวกับฝุ่นละอองที่ลอยอยู่ในอากาศเนื่องจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้อาศัยในบริเวณนั้น และต่อสภาพแวดล้อม,  PM2.5 และ PM10 สามารถถูกหายใจเข้าไปในร่างกายได้ โดยฝุ่นละออง PM2.5/PM10บางส่วนจะสะสมอยู่ตลอดในทางเดินหายใจ ฝุ่นละอองที่สะสมในปอดขึ้นอยู่กับขนาดว่าเล็กหรือ ใหญ่, PM2.5 มีความเป็นไปได้สูงที่จะเข้าไปสะสมบนพื้นผิวส่วนลึกของปอด ในขณะที่ PM10 จะสะสมอยู่บริเวณพื้นผิวของทางเดินหายใจที่มีขนาดใหญ่บริเวณส่วนบนของปอด ฝุ่นละอองที่สะสมเกาะติดบนพื้นผิวปอดอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อและเป็นสาเหตุทำให้ปอดเกิดการอักเสบได้

 

ผลกระทบต่อสุขภาพหลายประการที่เกิดจากฝุ่นละออง PM2.5 และ PM10 สำหรับ PM2.5 การได้รับสัมผัสในระยะสั้น (ไม่เกิน 24 ชั่วโมง) มีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากสาเหตุของโรคหัวใจหรือปอด หลอดลมอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง โรคหอบหืด การเข้ารับการตรวจในห้องฉุกเฉิน อาการทางเดินหายใจ และจำกัดจำนวนวันที่จะต้องมีการทำกิจกรรม มีรายงานผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ต่อสุขภาพในทารก เด็ก และผู้สูงอายุที่เป็นโรคหัวใจหรือปอดอยู่แล้ว นอกจากนี้ ในบรรดามลพิษทางอากาศทั่วไปทั้งหมด PM2.5 ยังเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากมลพิษทางอากาศมากที่สุด ทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกตามข้อมูลจาก WHO(World  Health Organization)

ผลจากการได้รับ PM10 เข้าไปในร่างกายในระยะสั้นมีความสัมพันธ์กับอาการโรคระบบทางเดินหายใจที่แย่ลง รวมถึงโรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)

 

การได้รับ PM2.5 ในระยะยาว (เดือนถึงปี) มีความเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคหัวใจหรือปอดเรื้อรัง และลดการเจริญเติบโตของการทำงานของปอดในเด็ก ผลกระทบของการได้รับ PM10 ในระยะยาวยังมีความชัดเจนน้อยกว่า แม้ว่างานวิจัยหลายชิ้นจะชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการสัมผัส PM10 ในระยะยาวกับการเสียชีวิตจากโรคทางเดินหายใจ สำนักงานวิจัยโรคมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ตีพิมพ์บทวิจารณ์ในปี 2558 โดยสรุปว่าการได้รับฝุ่นละอองในมลพิษทางอากาศในระยะเวลายาวนานเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งปอด

 

จากการวิจัยพบว่าผู้สูงอายุที่เป็นโรคหัวใจหรือปอดเรื้อรัง, เด็ก และผู้ป่วยโรคหอบหืด เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพหากได้รับ PM10 และ PM2.5 นอกจากนี้ เด็กและทารกยังเสี่ยงต่ออันตรายจากการหายใจนำมลพิษเช่น PM เข้าร่างกาย เพราะเด็กเล็กหายใจเข้าต่อน้ำหนักตัว 1 ปอนด์มากกว่าผู้ใหญ่ รวมทั้งการหายใจที่เร็วกว่า ใช้เวลาอยู่ภายนอกบ้านมากกว่าผู้ใหญ่ และมีขนาดร่างกายที่เล็กกว่า นอกจากนี้ ระบบภูมิคุ้มกันที่ยังไม่เจริญเต็มที่ของเด็กเล็กอาจทำให้พวกเขามีความเสี่ยงต่อ PM มากกว่าผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง

 

อันตรายและผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่นละออง PM 2.5  

          ฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นฝุ่นที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ไม่มีกลิ่น ขนาดเล็กมาก สามารถผ่านเข้าไปในร่างกายเราลึกได้ถึงถุงลมปอด บางส่วนสามารถเล็ดรอดผ่านผนังถุงลมเข้าเส้นเลือดฝอยล่องลอยอยู่ในกระแสเลือด และกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกาย กระตุ้นให้คนที่มีโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ เช่น โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคหอบหืด และโรคถุงลมโป่งพอง โรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด สำหรับผลระยะยาวจะทำให้การทำงานของปอดถดถอย อาจเกิดโรคถุงลมโป่งพองได้แม้จะไม่สูบบุหรี่ก็ตาม และเพิ่มโอกาสทำให้เกิดมะเร็งปอดได้อีกด้วย 

           ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยแบ่งเป็น 5 ระดับ คือตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป ซึ่งแต่ละระดับจะใช้สีเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย โดยดัชนีคุณภาพนอากาศ 100 จะมีค่าเทียบเท่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป หากดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงเกินกว่า 100 แสดงว่าค่าความเข้นข้นของมลพิษทางอากาศมีค่าเกินมาตรฐานและคุณภาพอากาศในวันนั้นจะเริ่มมีผลต่อสุขภาพของประชาชน 



 

ข้อมูลอ้างอิง

1. Admin Mouan, 2563, ฝุ่นละออง PM 2.5 คืออะไร ? ย่อมาจากคำว่าอะไร ? และ ผลกระทบ อันตรายจากฝุ่น PM 2.5 [Online], Available: https://tips.thaiware.com/1454.html [8 กุมภาพันธ์ 2565].

2. กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ, 2565, ข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศ [Online], Available: http://air4thai.pcd.go.th/webV2/aqi_info.php#:~:text=ดัชนีคุณภาพอากาศ%20(Air%20Quality,เข้มข้นของสารมลพิษทาง [9 กุมภาพันธ์ 2565].

3. บริษัท ซิลค์สแปน จำกัด, (ม.ป.ป.), ฝุ่น PM 2.5 เกิดจากอะไร และสาเหตุที่ทำให้ไม่ลดลง [Online], Available: https://www.silkspan.com/online/article/health/122/ [8 กุมภาพันธ์ 2565].

4. บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด, 2563,  PM2.5 คืออะไร? อันตรายและการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก [Online], Available: https://www.daikin.co.th/service-knowledge/pm-2-5/  [8 กุมภาพันธ์ 2565].

5. สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2562,  รู้จักฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่มากับมลภาวะ และวิธีการเลือกหน้ากากป้องกัน [Online], Available: http://www.mnre.go.th/om/th/news/detail/31459 [8 กุมภาพันธ์ 2565].

6. https://ww2.arb.ca.gov/resources/inhalable-particulate-matter-and-health

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้